Photo Album Montfort Gallery


In Remembrance Of Rev.Bro.Joseph Louis Banyat Rojanaroon

ภราดาโยเซฟ หลุยส์ บัญญัติ โรจนารุณ
อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (พ.ศ.2521-2530)
ชาตะ : วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2480
ปฏิญาณตนครั้งแรก : วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2501
ปฏิญาณตนตลอดชีวิต : 29 มีนาคม 2507
เกิดใหม่ในพระเจ้า : วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554
อายุรวม 75 ปี
........................................................


?....ขอพระแม่ค้ำชูดูแลท่าน.......สู่สวรรค์เกษมสุขอันสูงสุด.......


ประวัติการศึกษา
พ.ศ.2487-2491 : ประถมศึกษาปีที่ 1-4 โรงเรียนยี่กรุณจิตต์ จังหวัดนครนายก
พ.ศ. 2491 : มัธยมศึกษาปีที่ 1(สายสามัญ)โรงเรียนประชาสงเคราะห์ อำเภอพานทอง
จังหวัดชลบุรี
พ.ศ.2492-2496 : มัธยมศึกษาปีที่ 2-6 (สายสามัญ) โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา
จังหวัดชลบุรี
พ.ศ.2497-2498 : มัธยมศึกษาปีที่ 7-8 (สายวิทย์) โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพฯ
พ.ศ.2499 : เข้านวกสถาน Eachinkadu ประเทศอินเดีย
พ.ศ.2501 : ปริญญาตรี Loyala College, Madras India (Bechelor Degree of Science
Chemistry)
พ.ศ.2517 : ปริญญาโท Saint Michael College Vermont, U.S.A (Master Degree of
Education)

ประวัติการทำงาน
พ.ศ.2505-2509 : ครูโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ
พ.ศ.2509 -2513 : ครูใหญ่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา
พ.ศ.2513-2517 : ผู้รับใบอนุญาต และผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์เหลุยส์ ฉะเชิงเทรา
พ.ศ.2518-2521 : รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
พ.ศ.2521-2530 : ผู้รับใบอนุญาต , ผู้จัดการ , ครูใหญ่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย
พ.ศ.2531-2537 : ผู้รับใบอนุญาต และผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ
พ.ศ.2537-2540 : ผู้รับใบอนุญาต และผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา
พ.ศ.2540-2546 : ผู้รับใบอนุญาต ,ผู้อำนวยการ, ครูใหญ่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ
พ.ศ.2546-2550 : อธิการบ้านนักศึกษาคณะเซนต์คาเบรียล
พ.ศ.2550- ปัจจุบัน : อธิการโรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา


บราเดอร์อันเป็นที่รักของพวกเรา


จากเด็กชายชาวชนบทมาเป็นนักบวช ภราดาโยเซฟ หลุยส์ บัญญัติ โรจนารุณ ที่ทำงานรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้ามา 53 ปี ย่อมพิสูจน์ได้ว่าชีวิตจริงแปลก และตื่นเต้นกว่านวนิยาย

ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2480 ณ บ้านลาว จังหวัดนครนายก คุณแม่มาลีได้ให้กำเนิดบุตรชายคนที่สองกับคุณพ่อศิริ โรจนารุณ เด็กชายคนนี้มีชื่อว่า โยเซฟ เมื่อได้รับศีลล้างบาป และต่อมามีชื่อเรียกว่า ?บัญญัติ?

ภราดาบัญญัติ เป็นผู้ที่มีความศรัทธา เชื่อมั่น และพร้อมจะรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้ามาตั้งแต่เยาว์วัย คุณพ่อเดนิส ซึ่งเป็นนักบวชประจำสังฆมณฑลในขณะนั้นก็ได้สังเกตเห็น และรู้สึกชอบลักษณะนี้ในตัวท่าน คนทั้งสองรู้สึกถูกอัธยาศัยกัน ภราดาบัญญัติแม้ในวัยเด็กก็รู้สึกสนใจในคำเทศน์ของคุณพ่อเดนิส จนในที่สุดคุณพ่อเดนิสก็ทำให้ภราดาบัญญัติเข้าใจในกระแสเรียกของพระองค์

คุณธรรมสำคัญที่ภราดาบัญญัติถือปฏิบัติมาตั้งแต่เล็ก ในการดำเนินรอยตามพระคริสตเจ้าคือ ความเสียสละ ซึ่งท่านเมื่ออายุเพียง 11 ปี ท่านได้ช่วยเด็กชายอายุ 5 ปี ให้รอดชีวิตจากการจมน้ำ และในปีเดียวกันนี้เอง ท่านก็เข้ารับการศึกษาเพื่อเตรียมบวชเป็นเณรที่ศรีราชา เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ท่านก็ถูกส่งไปบวชเป็นเณรที่เอคินกานู เมืองซาเลม กรุงมัสดราส ประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ.2499 และในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 ท่านก็บวชถวายตัวปฎิญาณตนเป็นภราดาในคณะเซนต์คาเบรียล หลังจากนั้นท่านได้ศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรีทางด้านเคมี จากวิทยาลัยโวโยลา ประเทศอินเดีย 9 ปีหลังจากนั้นท่านก็ได้ไปศึกษาต่อที่รัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา ใช้เวลาเพียงหนึ่งปี ก็เรียนสำเร็จได้ปริญญาโททางด้านการศึกษา

ภารกิจในฐานะนักบวชของภราดาบัญญัติ เริ่มต้นอย่างจริงจังที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ในปี พ.ศ.2505 ที่นี่ท่านรับหน้าที่เป็นครูสอนหนังสืออย่างเต็มที่ถึง 4 ปี จากนั้นในปี พ.ศ.2509 ท่านก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ต่อมาในปี พ.ศ.2513 ท่านไปดำรงตำแหน่งอธิการที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ฉะเชิงเทราต่อจากนั้นท่านก็ได้ไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ.2518 ภราดาบัญญัติก็ได้กลับมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนกระทั่งย้ายไปเป็นอธิการที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

ภายใต้การบริหารงานของภราดาบัญญัติ จากประสบการณ์ที่ท่านบริหารงานโรงเรียนในเครือฯ มาแล้วหลายแห่ง ประกอบกับความรู้ความสามารถของท่าน ทำให้โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วเป็นที่นิยมของผู้ปกครองและนักเรียนเป็นอย่างมาก ทำให้ท่านต้องซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 52 ไร่ เพื่อขยายโรงเรียน โดยทำการก่อสร้างอาคารบนที่ดินผืนใหม่เพิ่มขึ้นอีก 6 หลัง เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากอธิการเจ้าคณะ ทำให้การขยายโรงเรียนสามารถสำเร็จลงได้ภายในเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น ดังจากข้อความประวัติโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยตอนหนึ่งที่เขียนไว้ว่า.....

พ.ศ. 2522 เมื่อภราดาบัญญัติ โรจนารุณ ดำรงตำแหน่งอธิการ ได้มีการรื้อถอนอาคารมงฟอร์ตเก่าซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกลง เพราะมีอายุมากและสภาพชำรุดทรุดโทรม โดยใช้พื้นที่เดิมขยายสนามบาสเกตบอล และสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น เพื่อใช้เป็นห้องเรียนของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ ห้องประชุมเล็ก ห้องสมุด ห้องทะเบียน ห้องทำงานครู และห้องทำงานอธิการ โดยงบประมาณการก่อสร้างนั้นส่วนหนึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่ได้รับการบริจาคจากผู้ปกครอง ครู ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2523 อีกทั้งเป็นที่น่าปิติยินดีและยังความซาบซึ้งในพระมาหากรุณาธิคุณเป็นล้านพ้น ที่ได้รับพระราชทานนามอาคารจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ว่า ?สามัคคีนฤมิต? มีความหมายถึง เพราะความสามัคคีที่บรรดาครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และนักเรียนมีใจร่วมกันจึงสามารถสร้างได้สำเร็จ

16 กันยายน พ.ศ.2526 ภราดาบัญญัติ ได้ลงนามเซนต์สัญญาซื้อที่สร้างโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม แห่งใหม่ จำนวน 52 ไร่ จากนายวัชระ ตันตรานนท์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่า และในปีถัดไปถึงได้ย้ายแผนกมัธยมไปที่ตั้งใหม่บนถนนมหิดล ใกล้กับโรงเรียนกาวิละวิทยาลัย โดยทำการก่อสร้างอาคารอำนวยการ 1 หลัง ห้องประชุมและโรงอาหาร อาคารเรียน 3 หลัง โดยใช้ชื่อว่า ?ปีเตอร์? ?เซราฟิน? ?อัลเบอร์ต? และห้องสมุด 1 หลัง โดยใช้ชื่อว่า ?แอมบรอสิโอ?

ต่อมาในปีการศึกษา 2528 ได้ย้ายแผนกประถมบนถนนช้างคลาน กลับมาที่ถนนเจริญประเทศในปัจจุบัน และเปิดการเรียนการสอนแผนกมัธยมยังบริเวณที่สร้างขึ้นใหม่ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ในปีการศึกษาเดียวกัน และเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2528 ทางโรงเรียนได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงฉลองแสดงความยินดี ในโอกาสที่วงดุริยางค์ของโรงเรียนได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันดุริยางค์นานาชาติ ณ เมือง Kerkrade ประเทศเนเธอร์แลนด์

นอกจากนี้ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 ทางโรงเรียนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม อย่างเป็นทางการ

ภายหลังจากบริหารงานที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยนานถึง 9 ปี ภราดาบัญญัติก็ย้ายมาเป็นอธิการที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ ในปี พ.ศ.2531 ที่นี่ท่านได้ทำการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้เหมาะสม มีประโยชน์ในการใช้สอยมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น โรงยิมเก่าที่มีอายุใช้งานมานานถึง 10 ปี ก็ถูกรื้อถอนไปสร้างใหม่เป็นอาคารอเนกประสงค์สูง 4 ชั้น สวนภายในโรงเรียนก็ได้รับการตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับให้สวยสดงดงามยิ่งขึ้น

ในปี พ.ศ.2537 ภราดาบัญญัติก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิการที่โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา ซึ่งท่านได้ทำงานทุ่มเทเพื่อบริหารโรงเรียน จนเป็นที่ยอมรับกันทั้งจากคณะครูและนักเรียนว่า ?ภราดาบัญญัติเปรียบเสมือนพ่อที่คอยดูแลห่วงใยทุกคน? ที่นี่ท่านได้ก่อตั้งศูนย์ภาษาขึ้น และสนับสนุนให้คณะครูและนักเรียนพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ความชำนาญทางภาษามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างที่พักอาศัยให้แก่คณะครูด้วยความเสียสละ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น อันเป็นคุณธรรมของท่าน ซึ่งก็ได้นำคุณธรรมดังกล่าวมาถ่ายทอดให้กับคณะครู ตลอดจนผู้ร่วมงานกับท่านอยู่เสมอ

ต่อจากนั้น ภราดาบัญญัติได้ย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งอธิการที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการอีกวาระหนึ่ง ในเดือนพฤษภาคม 2540 ซึ่งชาวเอซีซีทุกคนต่างมีความเชื่อมั่น และไว้ใจในความเป็นผู้นำของท่านในการบริหารโรงเรียนอีกครั้ง

ต่อมาในปี พ.ศ.2546 ภราดาบัญญัติได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งอธิการบ้านนักศึกษาคณะเซนต์คาเบรียล

ในปี พ.ศ.2550- ปัจจุบัน ท่านได้ย้ายกลับมาที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา อีกครั้งในตำแหน่งอธิการ จวบจนวาระสุดท้ายในชีวิตของท่าน แม้การจากไปของท่านจะนำความอาลัยยิ่งมาสู่คณะภราดา คณะครู และนักเรียนโรงเรียนในเครือฯ แต่พวกเราทุกคนยังต่างระลึกถึงคุณความดีของท่านที่ได้สร้างคุณประโยชน์ในความทรงจำอันงดงามให้แก่สถาบันในเครือฯ แต่ละแห่ง ที่ท่านได้ย้ายมาอยู่กับพวกเรา และพวกเราทุกคนจะได้วอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดประทานพระพรอันศักดิ์สิทธิ์รับเอาดวงวิญญาณของภราดาบัญญัติ โรจนารุณ บราเดอร์อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราไว้ในอ้อมพระหัตถ์ของพระองค์ด้วยเทอญ?.

เรียบเรียงและอ้างอิงจาก : http://www.sl.ac.th/html_edu/
: ACC NEWS ฉบับที่ 5 ปีที่ 2 ประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม 2540
: วารสารมงฟอร์ต ปีที่ 28 ฉบับที่ 56 ภาคเรียนที่ 1-2/2546
งานประชาสัมพันธ์ [2347] [2011-04-21 13:20:33]

ชมภาพแบบ Slideshow ที่นี่
(อาจใช้เวลาในการโหลด ในกรณีที่มีภาพจำนวนมาก)